|
ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
|
|
ประเพณีตักบาตรเทโว
การตักบาตรเทโว จะกระทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือหลังออกพรรษาแล้ว 1 วัน
ประวัติความเป็นมาของประเพณีการตักบาตรเทโว
ในสมัยพุทธกาล เมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่
ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์
ณ เมืองสังกัสสนคร
การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากชั้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า
"เทโวโรหณะ"ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส
เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
|
|
พิธีทอดกฐิน
ประวัติการทอดกฐิน
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส
ได้มีภิกษุ 30 รูป ชาวเมืองปาฐา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองสาวัตถี
แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว
6 โยชน์
ภิกษุทั้ง 30 รูป ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เฝ้าพระบรมศาสดา
เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงที่ฝนยังตกหนักน้ำท่วมอยู่ทั่วไป
แม้จะต้องฝ่าแดดกรำฝน ลุยฝน อย่างไรก็ไม่ย่อท้อ
เมื่อภิกษุทั้ง 30 รูป ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสรู้ถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมมิกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ผลในลำดับนั้น
พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์
แล้วตรัสอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ สำหรับในเมืองได้ผ่านวันออกพรรษาแล้ว
นางวิสาขาได้ทราบพุทธานุญาตและได้เป็นผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก
|
|
พิธีทอดผ้าป่า
ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับจีวรจากชาวบ้าน
พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่นผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้
ผ้าที่ห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาทำความสะอาด
ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง การทำจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงค่อนข้างยุ่งยากหรือเป็นงานใหญ่
ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องพิธีทอดกฐิน
ครั้นชาวบ้านทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์ต้องการนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง
จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่น ในป่า ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบ
ก็นำเอามาทำเป็นสบง จีวร พิธีการทอดผ้าก็มีความเป็นมาด้วยประการฉะนี้
สำหรับในเมืองไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รับรื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
4 ด้วยทรงพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระศาสนา |
|
ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ
ประเพณีการเทศน์มหาชาติจัดเป็นการทำบุญที่สำคัญและมีความหมายที่สุดในสังคมไทย
เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรง
และหากใครตั้งใจฟังให้จบใน วันเดียวจะได้เกิดร่วมและพบพระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ในพระราชสำนัก ปรากฏเป็นราชพิธีในวังหลวงมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ถึงกับทรงโปรดฯ
ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ
พระราชพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ครั้งที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง
ในท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปีจะจัดขึ้นในราวเดือน
4 เรียกว่า บุญพระเวส ทั้งยังมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลนี้ด้วย เช่น พิธีแห่พระเวสเข้าเมืองและพิธีแห่ข้าวพันก้อนเพื่อบูชาคาถาพัน
ทางภาคเหนือ ก็ให้ ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมาก เห็นได้จากมีประเพณีสร้างหลาบเงินหรือแผ่นเงินแกะลาย
แขวนห้อยรอบฉัตร ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงาน ทางภาคใต้นั้นประเพณีเทศน์มหาชาติได้
คลี่คลายไป เป็นประเพณีสวดด้านซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายอย่างกรุงเทพฯ
ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
|
|
|
|
|
|
|