มาฆบูชา
          มาฆบูชา เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นวันเกิดพระธรรม ถือว่าเป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ได้ประกาศ หลักธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ เพื่อให้พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มาประชุมกันในวันนั้น นำไปเผยแผ่

           วั น"มาฆบูชา" เป็นวันบูชาพิเศษที่ต้องทำในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
( ซึ่งโดยปกติทำกันในกลางเดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด ก็เลื่อนไปกลางเดือน ๔ )
ถือกันว่าเป็นวันสำคัญ เพราะวันนี้ เป็นวันคล้ายกับ วันประชุมกันเป็นพิเศษ แห่งพระอรหันตสาวก โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งได้มีขึ้น ณ บริเวณเวฬุวันมหาวิหาร หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลานับได้ ๙ เดือน

           วันนี้เอง ที่พระพุทธองค์แสดง "โอวาทปาฎิโมกข์" ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

 
จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ

๑. วันนั้น เป็นวันมาฆปูรณมี คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (สาเหตุของการชุมนุม)
๓. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา คือ ได้อภิญญา ๖
๔. พระภิกษุ เหล่านั้น ทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา)

 

โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน

๑. จุดหมายของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)

๒. หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ต้องมีความอดทน ในการฝึกตนเอง เพื่อบรรลุจุดหมาย (ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา) ต้องประกอบด้วย
     ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (สพฺพปาปสฺส อรกณํ)
     ข. ทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา) การไม่ทำความชั่วนั้น จะเรียกว่า เป็นคนดียังไม่ได้ การเป็นคนดี จะต้องทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ มิฉะนั้นแล้ว คนปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาต เป็นต้น ก็จะเป็นคนดีไปหมด
     ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบ (สจิตฺตปริโยทปนํ)

๓. วิธีการที่จะบรรลุจุดหมาย คือ ต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ** รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๘ เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พูดดี ทำดี คิดดี ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โมสะ โมหะ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา หรือความใคร่ ความอยากมี อยากเป็น แบบมืดบอด ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่มันเป็นไปไม่ได้ เช่น ไม่อยากเป็นคนเสื่อมลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้.

     ก. ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ (อนูปวาโท)
     ข. ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย (อนูปฆาโต)
     ค. ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต (ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร)
     ง. รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ตลอดจน รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ)
     จ. ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน (ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ)
     ฉ. ภาวนาอยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส (อธิจิตฺเต จ อาโยโค) เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ (สจิตฺตปริโยทปนํ)

          จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้จะเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต)

  หมายเหตุ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
สัมมาวาจา การพูดจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ
สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ
สัมมาวายามะ ความพากเพียรชอบ
สัมมาสติ ความระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ
   
อภิญญา ๖
อภิญญา คือความรู้อันยอดยิ่งมี ๖ ประการได้แก่
๑.แสดงฤทธิ์ได้ (อิทธิวิธิ)
๒.หูทิพย์ (ทิพยโสต)
๓.รู้จักกำหนดใจผู้อื่น (เจโตปริยญาณ)
๔.ระลึกชาติได้ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ)
๕.ตาทิพย์ (ทิพยจักษุ)
๖.ทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป-คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (อาสวักขยญาณ)
 
สาเหตุของการชุมนุม
คงเนื่องมาจากภิกษุเหล่านั้นล้วนเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนและในวันเพ็ญเดือนมาฆะ
เป็นวันที่ทางศาสนาพราณ์ได้ประกอบพิธีศิวาราตรี คือ การลอยบาปในแม่น้ำคงคา และประกอบพิธีสักการบูชาพระเป็นเจ้าในเทวสถาน เมื่อถึงวันนั้น พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าซึ่งเคยประกอบพิธีดังกล่าวจึงต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์
 
กลับหน้าแรก